เริ่มที่ตัวเรา

Standard

 

เมื่อเดือนเมษายน ช่วงสงกรานต์ ได้ไปเที่ยวที่ประเทศไต้หวัน ฉันเคยไปไต้หวันครั้งแรกเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เป็นความประทับใจอย่างมาก เพราะเป็นประเทศที่สวย อยู่ในเมือง ก็เห็นต้นไม้เขียว เมืองทีติดทะเลก็จะเห็นทะเลใส มีทัศนียภาพที่สวยงาม ประชาชนมีระเบียบ เดินทางไปไหนมาไหนเองได้สะดวก ค่าเงินที่ใกล้เคียงกับเงินบาท ตั้งแต่คราวนั้นก็คิดมาตลอดว่าจะต้องมาที่นี่อีกครั้ง จนเมื่อ ปลายปีที่แล้วพี่หมีดำ V Air สายการบิน low cost เชื้อชาติไต้หวัน เปิดให้บริการพร้อมตั๋วโปรโมชั่นแสนถูก ฉันจึงได้มาเยือนที่นี่อีกครั้ง ผ่านไปเกือบสิบปี สายรถไฟใต้ดินขยายไปถึงนอกเมือง เดินทางได้สะดวกขึ้นอีก ร้านขายหมาก ที่มีน้องๆ แต่งตัวสวยเกินปรกติมาขายหมาก (เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นการแอบแฝงขายบริการอย่างอื่น) ในไทเป หมดไป รถติดน้อยลง ทั้งที่คนเยอะขึ้น แต่ดูไม่วุ่นวายเลย

 

ไต้หวันเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงนัก ไม่เหมือนญี่ปุ่น หรือ เกาหลี หลายคนเข้าใจว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของประเทศจีน ถ้าใครเคยไปทั้งจีน และ ไต้หวันมาก่อน จะรู้ได้ถึงความแตกต่าง ที่เมืองจีนนักท่องเที่ยวต้องมีทักษะการเอาตัวรอด ประสาทซิมพาเททิค ทำงานสู้ซิ้มอย่างเต็มสตรีม ส่วนไต้หวันเที่ยวชิล ๆ เถิด จะเกิดผล ไต้หวันเป็นประเทศที่มีระเบียบ และ คนไต้หวันใจดีมาก เผลอ ๆ จะนึกว่าอยู่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นที่คงอยู่ตามบางเมือง  ถนนหนทาง และ ห้องน้ำสะอาด คนเข้าแถวรอใช้บริการกับทุกที่ ไม่ว่าจะรถใต้ดิน, ร้านอาหาร, ห้องน้ำ บนรถใต้ดิน มีที่นั่งสำหรับคนชรา หญิงมีครรภ์ และ คนพิการ ก็จะไม่มีใครไปนั่งบนที่นั้น แม้รถจะแน่นก็ตาม และ หากคุณหลงทาง ไม่ต้องกลัวที่จะถาม ไม่ต้องกลัวจะโดนหลอก เพราะถึงเค้าฟังไม่รู้เรื่อง อย่างน้อยจะพยายามทำความเข้าใจ อย่างมากก็จะจูงมือเราไปหาสถานที่นั้น ๆ เลย หรือ ถ้าเค้าไม่รู้ ก็จะโทรศัพท์ถามใครซักคนให้ หากไปตามร้านอาหาร สั่งไม่เป็นไม่ใช่ปัญหา ชี้เอาได้ เราพูดภาษาใบ้ เจ้พูดภาษาจีน พร้อมชี้ถามไปด้วยว่าจะเอานั่นมั๊ย เอานี่มั๊ย ก็กินได้อิ่มอร่อย

 

ความประทับใจที่มต่อไต้หวันนั้นมีมากมาย สาธยายกันได้เป็นวัน ๆ ด้วยความปลาบปลื้ม คิดไปหลายทีว่าทำไมประเทศเราไม่เป็นอย่างนี้บ้าง ขนาดวัดใหญ่ ๆ ของเค้า ยังไม่เห็นการเรี่ยไรเงิน หรือ วิธีการหาเงินเข้าวัดอย่างบ้านเรา มีแต่ผู้สูงอายุ มานั่งสวดมนต์ในวัดกันอย่างสงบ มีป้ายบอกให้เห็นชัดเจน ถึงวิธีการเข้ามาไหว้พระเป็นพระอังกฤษให้นักท่องเที่ยว พร้อมคนแปลเซียมซีที่ให้ถามได้ 1 คำถามไม่คิดค่าใช้จ่าย คุณตาน่ารัก ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย คนเค้าหรือก็ช่างมีระเบียบ ดูตามเรือกสวนไร่นาซิ มีพืชพรรณผสมผสาน ปลูกกันเขียวชอุ่ม ไม่เห็นจะเป็นเขาหัวโล้นมีแต่ข้าวโพดอย่างบ้านเราเลย

 

จากนั้นก็ย้อนมาดูที่ตัวเอง บ่นไปแล้วจะได้อะไรเล่า การที่มีโอกาสได้เห็นสิ่งที่ดี ก็คือได้เห็นตัวอย่างว่าคนอื่นเขาทำกันอย่างไรเตือนให้เราบอกตัวเองว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อได้มีการลงมือทำ ฉันจึงเริ่มตั้งใจยืนชิดขวา บนบันไดเลื่อนของทุกที่ มองซ้ายขวาหน้าหลัง ว่าขวางทางใครอยู่หรือไม่ ใส่ใจถึงความเป็นไปรอบข้าง มากกว่าจะก้มหน้าดูโทรศัพท์ ไม่นั่งที่นั่งที่สำรองไว้สำหรับพระ หญิงมีครรภ์ และ คนชรา โดยไม่ต้องไปสนใจ หรือ ขัดใจ ว่าคนอื่นจะทำหรือไม่ แต่ฉันทำ เป็นการเริ่มต้นที่เล็กอย่างมาก แต่ฉันเชื่อว่าหากแต่ละคนตั้งใจทำสิ่งเล็ก ๆ ก็จะรวมกันเป็นกระแสหลักได้ในวันหนึ่ง

น้ำตาบอกอะไร

Standard

ฉันไม่ได้ร้องไห้มานานเท่าไหร่แล้วนะ ชีวิตฉันจัดว่ามีความสุขทีเดียว ไม่ได้มีเรื่องให้ต้องร้องไห้มานานแล้ว ฉันเข้มแข็ง ทำใจได้แทบทุกเรื่อง แต่คนเรา มันก็ต้องมีบางเรื่องที่อ่อนไหว บ่อยครั้งที่คนเราร้องไห้ นอกจากจะเพราะความเสียใจเผลอ ๆ จะมีความรู้สึกโกรธตัวเอง ที่ไม่น่าร้องไห้ บางครอบครัวก็สอนว่าการร้องไห้เป็นความอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ชาย การร้องไห้เป็นอะไรที่ควรอยู่ให้ห่างเลยทีเดียว

 

ฉันร้องไห้สองครั้งในเวลาไม่ถึงเดือน เป็นค่ายที่เป็นผู้เข้าอบรม และ อีกค่าย เป็นผู้จัดการอบรมทั้งสองค่ายเป็นค่ายที่เต็มไปด้วยน้ำตา แต่ก็เต็มไปด้วยการเรียนรู้ โดยเฉพาะในค่ายละคร /โยคะ/ผัสสะ/ชีวิต กับพี่อ๊อด พี่เบิร์ด พี่ตูน ที่มีผู้เข้าอบรมเพียง 6 คน แต่เราตัดสินใจทีจัดการอบรมนี้ และ เราก็พบว่า ถ้าไม่จัดคงจะเสียดายแย่เลย เพราะไม่ค่อยได้โคจรมาทำอะไรร่วมกันได้บ่อยนัก การที่มีผู้เข้าอบรมน้อย ทำให้เหมือนเป็นการมานั่งบ้านเพื่อน แล้วคุยกันสัพเพเหระเรื่องชีวิตตั้งแต่เด็ก จนโต จนเตรียมตัวตาย

 

จากการร้องไห้มาสองค่าย ฉันพบว่าการร้องไห้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือความรู้สึกใดรู้สึกหนึ่ง แม้จะเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ฉันถามตัวเองว่าน้ำตานั้นไหลออกมาเพื่ออะไร สำหรับฉัน มันบอกว่าความทรงจำนั้น มันไม่ได้ไปไหน มันยังอยู่ตรงนี้ ฉันร้องไห้เพื่อยอมรับ ยอมให้มันอยู่กับฉัน เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้ฉัน เป็นฉันในวันนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มันอาจจะจางไปตามกาลเวลา แต่มันไม่ได้หายไปไหน น้ำตาที่ไหลออกมาแสดงถึงการยอมรับว่ามีความทรงจำเหล่านั้นอยู่ เรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องปฏิเสธ หรือ ผลักไส และ น้ำตาอาจจะไม่ได้มาจากความเสียใจเสมอไปแต่เป็นสิ่งที่บอกว่าฉันรู้สึกถึงหัวใจทุกดวงเป็นหัวใจดวงเดียวกัน เราไม่มีอะไรแปลกแยกจากกัน

 

เราเรียนรู้กันได้ด้วยน้ำตาที่ได้ร่วมแบ่งปันกัน วางใจกัน เติบโตไปด้วยกัน ขอบคุณสิ่งใดก็แล้วแต่ที่ทำให้ฉันได้พบกับสิ่งที่ดี พบเจอคนที่ดี และ ขอบคุณทุกเรื่องราวที่เป็นบ่อเกิดของน้ำตา ทำให้ฉันได้รู้จักกับอีกด้านหนึ่งของตัวฉันเอง

บทความนี้ลงในจุลสารโยคะสารัตถะ สถาบันโยคะวิชาการ เดือนกุมภาพันธ์ 2016

 

hug-me-widescreen-wallpaper-for-desktop-backgrounds

credit : http://www.toptenpack.com/wp-content/uploads/2015/07/hug-me-widescreen-wallpaper-for-desktop-backgrounds.jpg

 

 

Life is Like a Roller Coaster

Standard

วันที่ 1     ตื่นมาเจ็บคอมาก ล้างจมูกด้วยกาเนติ จมูกตัน ลองสลับข้างไปมา จนสั่งน้ำมูกออกมาได้ก้อนใหญ่ แล้วก็ล้างได้โล่งทั้งสองข้าง ต่อด้วยสูตระเนติ ข้างซ้ายได้ ข้างขวาตัน และ เจ็บ ก็เลยไม่ฝืน มีจับเลี้ยงเหลือห่อนึงในตู้เย็น เอามาต้มกับหล่อฮั่งก้วย รู้สึกดีขึ้น ตอนเย็นไปแปลคอร์สครูยาวที่ มศว กลับถึงบ้าน อาการอึน ๆ เริ่มมา น้ำมูกเหลวใส มาแล้วไง จากประสบการณ์ พักดี ๆ สี่วันหาย

วันที่ 2     เข้าสู่อาการหวัดเต็มรูปแบบ ทำเนติทั้งสองแบบซ้ำคราวนี้ได้สบายทั้งสองข้าง นอนพิจารณาร่างตัวเองซักพัก แล้วโทรหาเจี๊ยบ ฝากให้ไปงานเย็นนี้แทน แล้วนอนพัก ไม่รู้สึกอยากอาหารเลยไม่กินอะไร จิบแต่จับเลี้ยง และ นอนพัก

วันที่ 3     รู้สึกดีขึ้น แต่ ยังมึน ๆ และ เริ่มคันคอ ตามสเต็ป อาการคันคอ และ ไอ จะมาเป็นอย่างสุดท้าย ณ จุดนี้ก็วัดกันว่าจะไอกี่วัน บางครั้งไอกันจนได้ six pack เลยทีเดียว ไลน์หาพี่รัฐ ฝากให้แปลที่ มศว แทน เริ่มกินอาหาร แต่ได้นิด ๆ พรุ่งนี้น่าจะหายสนิท เพราะไม่ไอมาก พรุ่งนี้จะไม่กินจับเลี้ยงแล้ว เพราะกินหลายวันไม่รู้จะเย็นไปมั๊ย ตอนค่ำมีนอยด์ ๆ บ่นกับเพื่อนว่าอาทิตย์นี้มีงานทุกวัน แต่มาพลาดเพราะป่วย

วันที่ 4     รู้สึกตัวแล้วแต่ยังไม่ตื่น นอนตะแคงซ้าย รู้สึกเหมือนโคลงเคลง นึกถึงเหยือกกาแฟแก้วกลมที่ใช้ในโรงแรม หลังจากที่เทแล้ว น้ำกาแฟยังกระฉอกไปมา ความรู้สึกประมาณนั้น พลิกตัวไปทางขวา ก็เป็น ลืมตาขึ้นมา กำแพงหมุนเป็นวงกลม นี่เองที่เค้าเรียกว่าบ้านหมุน ไลน์ถามพี่อ๊อดเพราะจำได้ว่าพี่อ๊อดเคยเป็น ไลน์บอกพี่รัฐฝาก มศว อีกวัน พี่รัฐใจดี บอกว่าอาทิตย์หน้าให้เราแปลแทนพี่รัฐก็ได้ สลับวันกัน

นอนนิ่ง ๆ ซักพัก แล้วลองลุกขึ้น พอได้ อาบน้ำ แปรงฟัน แล้วลงมานอนต่อ หมุนอีกแล้วค่า พี่อ๊อดยังไม่อ่านไลน์ โทรหาเลยดีกว่า

“พี่อ๊อด หนูบ้านหมุน”

“พี่ไม่ได้อยู่บ้าน อยู่ศิริราช” เอ่อ สงสัยจะเป็นหวัดเลยพูดไม่ชัด พี่อ๊อดเลยฟังผิด

“หนูบ้านหมุนนน” พร้อมอธิบายอาการเพิ่มเติม

“หา บ้านหมุนเหรอ รีบไปหาหมอเลย เพราะอาจจะติดเชื้อในหูจากการเป็นหวัด พี่เคยเป็น” ได้ค่ะ ๆ หนูจะรีบไป

“อ้อ โจ๋ มันไม่เกี่ยวกับอายุนะ” น่ารักที่สุดอ่ะ ไม่รู้บอกเรา หรือ บอกเผื่อตัวเอง อิอิ

ค่อย ๆ ลุกขึ้นแต่งตัว แล้ว โทรหามี๊ มี๊มารับไป รพ. ระหว่างทางโทรหาน้อง เผื่อว่าต้อง นอน รพ. หรือ พรุ่งนี้อาการยังไม่ดีขึ้น ป๊ามีนัดตรวจกับหมอหัวใจพรุ่งนี้ ให้น้องไปกับป๊า น้องติดงานไปไม่ได้ ก็คิดว่าถ้าเราไม่ไหว ก็ให้ป๊าไปคนเดียว แล้วโทรถามผลกับหมอเอา ทำเท่าที่ทำได้

หมอน่ารักมาก บอกว่าเชื้อหวัดลงหูอย่างพี่อ๊อดบอก เราไม่เคยเป็น ก็กังวล เพราะเดี๋ยวเดิน ๆ อยู่ดี ๆ จะบ้านหมุนมั๊ย เลยขอนอน รพ. เพราะเบิกประกันได้ด้วย หมอบอกว่าถ้าไม่สบายใจจะนอนก็ได้ เลยถามหมอว่า ถ้าไม่ต้องนอน รพ. ไม่เอายาไปทานเลยได้มั๊ย แล้วนอนพัก จะหายมั๊ย หมอให้ลองเดินดู พอเดินได้ช้า ๆ เลยบอกว่าอาการยังไม่หนักมาก นอนพักก็หาย สังเกตตัวเองดู ถ้าเป็นมากก็มาหาหมอใหม่

กลับมานอนบ้าน ยังคงมีอาการ ประโยคที่ว่า Life is like a roller coaster ผุดขึ้นมา เออ หมุน ๆ นี่มันก็สนุกดีนะ เหมือนรถไฟเหาะ แต่รู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก ที่ได้กลับมานอนบ้าน ในห้องที่คุ้นเคย ตัวไม่สบาย แต่อยู่ดี ๆ รู้สึกสดใส ดีใจที่ได้ดูแลตัวเอง ไม่ต้องนอน รพ. ชีวิตก็มีขึ้น ๆ ลง ๆ เวลาป่วย งานก็หาย แต่ในเมื่อทำอะไรไม่ได้ และ ตอนนี้สิ่งที่ทำได้คือนอนอยู่เฉย ๆ ก็ให้เป็นไปเช่นนั้น

ทางเลือกมักมีมากกว่าหนึ่ง

Standard

ตอนดึกของคืนหนึ่ง ณ สนามบินดอนเมือง ฉันกับเพื่อนอีกสองคนกลับมาจากเชียงใหม่ อาจจะเพราะเป็นเดือนธันวาคม คืนนั้นมีไฟลท์ลงเยอะแม้จะเป็นเวลาเกือบเที่ยงคืนแล้ว บ้านพวกเราอยู่คนละทาง และ ต่างก็เหน็ดเหนื่อยจากการท่องเที่ยว พากันลากกระเป๋าไปต่อคิวเพื่อเรียกรถแท๊กซี่ ซึ่งคิวยาวมากแต่รถแท๊กซี่ที่รอให้บริการก็มีเยอะ แถวจึงเลื่อนขึ้นไปเรื่อย ๆ ผ่านไปประมาณ 15 นาที เพื่อนที่อยู่ข้างหน้า ก็เกือบจะถึงโต๊ะรับบัตรคิวแล้ว มีชาวต่างชาติผู้หญิง สำเนียงฟังยากเดินเข้ามาขอแทรกคิว พร้อมกับชี้มือไปที่ครอบครัวของเธอซึ่งยืนอยู่กับกองกระเป๋าเดินทางกองโต

ฉันกับเพื่อนมองหน้ากันแบบเนือย ๆ และ ตอบเธอไปว่า “ไปต่อคิว” แต่เธอก็ยังไม่ไป และ อธิบายเพิ่มเติมซึ่งพวกเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงได้แต่ตอบไปอีกครั้งด้วยความหงุดหงิดว่า “คิว” พอเพื่อนได้บัตรคิวแล้ว ก็เบี่ยงตัวไปทางซ้ายกันชาวต่างชาติคนนั้นให้ห่างจากโต๊ะเพื่อให้ฉันรับบัตรคิวต่อ และ ฉันก็ทำเช่นเดียวกัน เพื่อให้เพื่อนที่อยู่ข้างหลังได้บัตรคิว แล้วเดินจากไป ด้วยความคิดว่า ฉันทนให้ใครมาแซงคิวไม่ได้ เพราะมันไม่ถูกต้อง

แท๊กซี่เข้ามาจอดเทียบ ฉันก้าวขึ้นรถ บอกจุดหมายปลายทาง ประตูรถที่ปิดลงกั้นระหว่างฉัน และ เสียงดังวุ่นวายในสนามบิน รถเคลื่อนตัวไป ได้นั่งเอนหลังแล้วได้อยู่กับตัวเองเงียบ ๆ แต่สิ่งที่ฉันทำลงไปกลับยังส่งเสียงอยู่ในใจ มันรบกวนจิตใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนไปเกือบตลอดทางกลับบ้าน ทำไมล่ะ? ถ้าเป็นเมื่อก่อน ฉันจะสะใจมาก คิดว่า เธอสมควรจะโดนแล้ว และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปนั้น สมควรและถูกต้องที่สุด จนถึงกับจะไปเล่าให้เพื่อนฟังอย่างภาคภูมิใจว่าเราได้เป็นฮีโร่ปกป้องสิทธิเลยทีเดียว ถ้าให้เค้าแซงไปมันก็ไม่ถูกน่ะสิ เค้าควรจะไปต่อคิว ในวันนั้น ฉันกลับรู้สึกว่า ทำไมฉันถึงใจร้ายจัง ไม่มีเมตตาเอาเสียเลย เค้ามาแซงคิวเป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่รอแท๊กซี่อยู่ตั้งเป็นแถวยาว แต่มันมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม  วิธีที่ต่างจากเดิมที่เคยทำ

เป็นไปได้ไหม ที่จะเพียงแค่ยิ้มเมื่อเค้าเข้ามาขอแซงคิว บอกเค้าว่าฉันก็อยากให้เธอเข้ามานะแต่ทำไม่ได้ เพราะไม่สมควร ด้วยความรู้สึกที่เมตตาต่อผู้หญิงคนนั้นเท่าเทียมกับคนอื่นที่ต่อคิวอยู่ ฉันเริ่มมองเห็นว่ามันมีทางอื่น มีคำตอบอื่น นอกจากสิ่งเดิม ๆ ที่เคยทำ หากเท่าทันกับความรู้สึกตัวเอง คำว่า “ไม่ได้” เหมือนกัน แต่การแสดงออก และ อารมณ์ที่ส่งไปนั้น ไม่ได้ต้องก้าวร้าวเสมอไป

วันนั้นฉันสอบไม่ผ่าน แต่ก็ได้การบ้านไปว่าเราไม่จำเป็นต้องทำเหมือนเดิมด้วยความเคยชิน หากมีสติ และ เมตตาเพียงพอ ดวงตา และ ดวงใจของเราจะเปิดกว้าง มองเห็นทางเลือกที่มีมากกว่าเดิม ที่จะไม่บีบคั้นตัวเราเอง ก่อนที่จะไปบีบคั้นคนที่อยู่ตรงหน้า

ใกล้สิ้นปีแล้ว ขอให้ผู้อ่านมีความสุข คิดหวังสิ่งใดที่เป็นกุศล ขอให้สมหวังในทุกเรื่องนะคะ

บทความนี้ลงจุลสารสารัตถะ สถาบันโยคะวิชาการ เดือน ธันวาคม 2557

เราควรรักอะไรซักอย่าง

Standard

“คนทำขนมได้นี่ เก่งนะ ดูมันเหนื่อยมากเลย”

“ไหนจะทำ ไหนจะเก็บล้าง หนักอยู่นะ ไม่รักจริงทำไม่ได้นะเนี่ย”

“กว่าจะทำได้ยากนะ ขายได้บ้างมั๊ย อุปกรณ์ทำขนมนี่เยอะเหมือนกันนะลงทุนไปเท่าไหร่แล้ว”

เสียงสะท้อนที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ยามเมื่อมีเพื่อนฝูงญาติโยมมาเยี่ยมบ้านตอนที่กำลังทำขนม ก็เหมือนกับเวลาที่เราทึ่ง เวลาที่เห็นใครทำบางสิ่งที่ยากสำหรับเรา เราจะมองว่ามีคำว่าเหนื่อย คำว่าหนัก คำว่ายาก พาจะทำให้ท้อได้หากไม่รัก แต่หากมีความรักที่จะทำอะไรจะพบว่าความยากลำบากก็ดูจะกลายเป็นเรื่องรองลงไป ในสภาพที่ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายที่ต้องเสียสละ เพราะยาก หนัก เหนื่อยนั้น เรากลับเป็นผู้ที่ได้รับด้วย

ยิ่งเขียนมากจะยิ่งงง ตกลงเธอจะพูดเรื่องอะไร เรื่องของเรื่องคือฉันรักที่จะทำขนมประเภทเบเกอรี่ ทั้งที่เป็นคนที่แสนจะขี้เกียจ แต่ก็ยังทำมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็รู้แต่ว่าทำแล้วก็มีความสุขดี เหมือนครัวเป็นอาณาจักรชั่วคราวของฉัน ยามเมื่อทำขนม มีคนชอบกิน ฉันก็ชอบทำ แต่มาระยะหลังนี้ ฉันเริ่มมองเห็นเบื้องหลังการทำขนมของตัวเองได้ชัดขึ้น เพราะฉันไม่ได้ทำขายแบบเป็นจริงเป็นจัง ทำเสียก็บ่อย แต่งหน้าเค้กก็ไม่สวย แต่ทำไมถึงยังคงทำอยู่

เมี่อมาพิจารณาดี ๆ แล้วจึงเห็นว่าการทำขนม นอกจากจะทำให้เข้าใจว่าเมื่อเรารักที่จะทำอะไร ก็จะยอมเข้าใจในสิ่งนั้น ฉันไม่ได้ควบคุมการทำขนม แต่ทำขนมด้วยความเข้าใจว่าขนมแต่ละชนิดนั้นต้องการอะไรถึงจะออกมาได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น มากไปกว่านั้น การทำขนมกลับเป็นการฝึกฝนใจตัวเอง ด้วยนิสัยที่บางครั้งจัดว่าเกือบจะชุ่ย เพราะไม่ค่อยใส่ใจรายละเอียด ทำอะไรไปก็จำไม่ได้สติสตังไม่ค่อยจะมี ไอ้นั่นหก ไอ้นี่ลวก ก็ทำให้ต้องปรับตัวเองในส่วนที่พร่อง

ตอนทำขนมใหม่ ๆ บางครั้งก็ลืมนั่นลืมนี่ แหกกฎไม่ทำตามขั้นตอน ขนมออกมาเสียกินไม่ได้ หรือ พอทำออกมาได้ดีแล้ว ก็ลืมว่าคราวที่แล้วทำยังไง เพิ่มลดส่วนผสมอะไรไปตรงไหน ทำอีกทีก็ไม่เหมือนเดิม หรือ นาน ๆ ไปกลับมาทำอีกที ก็ไปเสียเอาตรงส่วนที่เคยทำเสียมาแล้ว ออกไปซื้อของก็ลืมซื้อนั่นซื้อนี่ หรือ ต้องเข้า ๆ ออก ๆ จากบ้านไปซื้อของเพราะไม่วางแผนให้ดี ไม่สำรวจสต๊อกของเสียก่อน นึกอยากซื้ออะไรก็ออกไปเลย กลับเข้ามาเจอว่ายังมีของขาด ก็ต้องออกไปซื้อใหม่

เมื่อทำขนมบ่อย ๆ เข้า ฉันก็ต้องหัดตัวเองเสียใหม่ ฝึกตัวเองให้รู้จักวางแผน รอบคอบ รู้จักจดบันทึก เพื่อจะไม่พลาดจุดเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ถึงกับแก้ไขนิสัยต่าง ๆ ที่เคยเป็นได้ แต่ก็พอจะเบาบางนิสัยส่วนที่แย่ ให้พอจะรับได้บ้าง ซึ่งการปรับตัวได้อย่างนี้ น่าจะมาจากความรักในการทำอะไรบางอย่าง

พอเรียนรู้ที่จะรัก “อะไร” ฉันกลับพบว่า ได้เรียนรู้ที่จะรัก “ใคร” อย่างที่เขาเป็นเช่นนั้น ด้วยความที่เป็นมนุษย์ ที่มีชีวิตจิตใจ จึงไม่เหมือนการรักอะไร ที่ตอบโต้ฉันไม่ได้ แต่คนทำให้กระทบความรู้สึกได้ ทั้งความพอใจ ความไม่พอใจ ขัดใจ ซึ่งความรักในการทำอะไรบางอย่าง สอนให้ยอมรับในความเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ลองมารักอะไรซักอย่าง เพื่อจะรักใคร ได้อย่างที่เขาเป็นกันดูไหม

บทความนี้ลงจุลสารสารัตถะ สถาบันโยคะวิชาการ เดือนกันยายน

page21page11120120125293

ความเคยชิน

Standard

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาม่าที่มีอายุถึง 97 ปีได้จากครอบครัวของเราไปอย่างสงบ บรรดาลูกหลาน ก็มาช่วยกันดูแลเรื่องงานศพ หากใครที่มีเชื้อสายจีน หรือ เคยไปงานศพของคนไทยเชื้อสายจีน ก็อาจจะคุ้นเคยกับพิธีกรรมต่าง ๆ และหน้าตาของการจัดงานที่ต่างจากของคนไทยอยู่บ้างเล็กน้อย และ ที่เด่น ๆ ก็คือมีกระดาษเงินกระดาษทอง ที่มักจะเห็นลูกหลานนั่งล้อมวงช่วยกันพับใส่ไว้ในเข่งใบใหญ่รูปทรงเหมือนห่อโรตี มีปริมาณมากมายราวกับว่าจะต้องพับกันไปไม่จบสิ้น

ฉันก็เป็นหนึ่งในบรรรดาลูกหลานที่นั่งพับกระดาษเงินกระดาษทอง เนื่องจากไม่ค่อยรู้จักแขกที่มาในงาน หน้าที่ในการต้อนรับแขกจึงให้รุ่นพ่อแม่เป็นผู้ทำหน้าที่นี่ และ ด้วยนิสัยที่ไม่ค่อยชอบพูดคุยกับคนแปลกหน้า จึงเลือกจะนั่งหลบมุมพับกระดาษอยู่เงียบ ๆ ในวันแรก ก็นั่งดูผู้ใหญ่ที่พับเก่งแล้วพับให้ดู ให้เค้าสอน พับออกมาเบี้ยว ๆ หน้าตาดูไม่ค่อยสวย  และ ไปได้ช้ากว่าจะเสร็จแต่ละอัน หรือไม่ก็ทำขาดไปบ้างก็มีในความเงียบขณะพับกระดาษนั้นในใจกลับมีคำถามผุดขึ้นมามากมาย “ทำไมจะต้องพับกระดาษวะเนี่ย พับทำเพี่อ เผา ๆ ไปเลยไม่ได้เหรอไง?” “ดูซิ สีที่เคลือบกระดาษ พวกเงิน ทอง นี่ก็ตะกั่วทั้งนั้น มีสารอันตรายอะไรติดมือรึเปล่า”  “พับเสร็จเดี๋ยวก็เอาไปเผา เอาเงินมาเผาทิ้งแท้ ๆ ไหนจะควัน ไหนจะสารพิษ เพื่อ?”

พอในวันต่อ ๆ มา แม้จะว่างเว้นไปถึงหนึ่งวันพอมาจับกระดาษอีกครั้ง กลับพับได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนเป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องจำขั้นตอนว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง พอพับคล่องแล้วก็เริ่มเกิดความเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ในการให้นั่งพับกระดาษเป็นภูเขาเลากาขนาดนี้ นอกจากให้ระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตแล้ว อาจจะช่วยให้จิตใจที่โศกเศร้าของลูกหลาน ได้บรรเทาลงจากการได้จดจ่อทำอะไรซักอย่างให้มือไม่ว่างนั่นเอง

หลังจากนั้นก็มาพิจารณามองดูมือที่ทำงานไปอย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องผ่านความคิด กลับรู้สึกลึกลงไปว่า นี่ขนาดนั่งพับกระดาษแค่วันเดียว ผ่านมาอีกวัน ยังหยิบกระดาษมาพับได้อย่างเคยชิน แล้วจิตใจของเราล่ะ คุ้นเคยกับการทำอะไรแบบเดิม ๆ โดยอัตโนมัติ ไม่ผ่านกระบวนการไตร่ตรอง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่มีสติ แล้วสิ่งนั้นประทับอยู่ในใจ ในอะไรบางอย่างที่ลึกล้ำข้างในมาตั้งกี่ปีต่อกี่ปี หรืออาจจะนานแสนนานกว่าช่วงชีวิตหนึ่งเสียด้วยซ้ำ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นกับเราได้บ้าง

ลองพิจารณาถึงสิ่งที่เคยเป็น และ บางอย่างก็ยังเป็นอยู่ เช่นปากเสีย ขี้หงุดหงิด มีคำถามมีข้อแม้กับทุกเรื่อง เถียงคำไม่ตกฟาก มักโกรธโดยเฉพาะเวลาขับรถ ยอมกับเรื่องเดิม ๆ ไม่ยอม กับเรื่องเดิม ๆ และ อื่นๆ  อีกมากมาย ทำให้ฉันปลูกฝังนิสัย และ อารมณ์บางอย่างไว้จนเป็นความเคยชิน พร้อมที่จะดึงออกมาใช้ (ในทางไม่สร้างสรรค์) ได้ทุกเวลา อย่างตอนที่พับกระดาษ ถึงจะเต็มใจพับเอง แต่ก็บ่น ก็เถียงอยู่ในใจ บางอย่างถ้ารู้ตัว ก็ยังมีโอกาสขูดลอกสิ่งที่สะสมมาออกไปเสียบ้าง บางอย่างกว่าจะรู้ตัว ก็ทำร้ายตัวเอง และ คนรอบข้างไม่รู้ไปเท่าไหร่ หรือบางอย่างที่รู้ตัวแต่ก็ยังได้แต่บอกตัวเองว่าเอาอีกแล้ว หรือบางอย่าง ก็ไม่รู้ตัวเอาซะเลย ก็รอเวลากันไป

ฉันดึงตัวเองกลับมากับการดาษในมือ เมื่อพับกระดาษไป หากพับแบบลวก ๆ หน้าตาก็ออกมาตามเหตุที่ใส่ลงไป หากพับด้วยความตั้งใจ มีความรู้สึกตัว ค่อย ๆ เพียรพับ หน้าตาก็ตามเหตุที่ใส่ลงไปเช่นกัน เช่นเดียวกับการพิจารณาถึงสิ่งที่คิดหรือทำ ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคำถามเลยว่าสิ่งที่ทำไปนั้น ถูกหรือผิด ควรไม่ควร หากผลที่เกิดขึ้นมันสวยงาม เบ่งบาน เบิกบานในใจ ก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุด การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ทำให้ฉันใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และ มีความสุขง่าย ๆ กับ มือที่เคลื่อนไหวตามงานที่มันควรจะทำ ด้วยหวังว่าจะได้ความปราณีต สุขสงบนั้น มาคุ้นเคยกันไว้ในใจ

บทความนี้ลงจุลสารโยคะสารัตถะ สถาบันโยคะวิชาการ เดือนมิถุนายน 2557

ความรู้สึกของสองขา

Standard

ความรู้สึกของสองขา

 

ฉันเริ่มวิ่งอย่างจริงจังมาได้ปีกว่าแล้ว การวิ่งของฉัน เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่น่ะเหรอ จากช่วงหนึ่งในชีวิต ที่อยากวิ่ง เพื่อวิ่งเป็นเพื่อน เพราะอยากให้ใครคนหนึ่งแข็งแรง ตอนนั้นเพียงระยะทางแค่ 300 เมตร ฉันก็เหนื่อย หัวใจเต้นแรง แล้วก็ค่อย ๆ วิ่งจนได้ 1 กิโลเมตร ก็เป็นความภูมิใจมากแล้ว ตอนนั้นฉันไม่รู้หรอก ว่าชอบวิ่งหรือเปล่า รู้แต่ว่าได้มีอะไรทำด้วยกัน

เวลาผ่านไป เวลาที่ไม่มีคนที่ต้องไปวิ่งเป็นเพื่อน แต่มีเพื่อนชวนกันไปวิ่ง ฉันได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ได้เรียนรู้กับแต่ละย่างก้าว จาก 300 เมตร เป็น 1 กิโลเมตร จาก 1 กิโลเมตร เป็น 3 กิโลเมตร และได้ลองลงวิ่งงานกรุงเทพมาราธอน ที่ระยะ 5 กิโลเมตร ฉันเริ่มรักการวิ่งด้วยตัวฉันเอง และปีต่อมา ก็เริ่มซ้อมวิ่ง เพื่อลงงานกรุงเทพมาราธอนระยะ 10 กิโลเมตร พร้อมกำลังใจจากผองเพื่อน

พี่เบิร์ด นีลชา พี่ที่รักคนหนึ่งถามฉันว่า เห็นคนที่วิ่ง 10 กิโลเมตรขึ้นไป บอกว่าความรู้สึกมันต่างจากวิ่งระยะสั้น จริงไหม ฉันไม่ได้เคยพิจารณาความรู้สึกนั้นมาก่อน รู้แต่ว่ามีความสุขเมื่อได้วิ่ง จึงนิ่งทบทวนอยู่ซักพัก ใช่แล้ว มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษ เมื่อตอนวิ่งระยะสั้น ๆ ร่างกายยังไม่แข็งแรง จะรู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า แต่พอวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร ช่วงกิโลแรก ๆ จะเริ่มจากเดินเร็ว แล้วจากนั้นจะวิ่งสลับเดินเร็ว เพราะแรงตก แต่พอวิ่งต่อไปอีก จะมีช่วงที่รู้สึกสบาย ตัวเบา ขาเบา กลมกลืนกับสิ่งรอบตัว รู้สึกว่าทั้งโลกในตอนนั้นไม่มีใคร มีแต่ฉัน และ สองขา ที่ไปทีละก้าว ๆ จนช่วงท้าย ๆ ก็จะแผ่วลง

จากการวิ่งฉันได้เรียนรู้ว่า ตอนเริ่มต้น การวิ่งเพื่อเป็นเพื่อนอีกคนก็ดูเป็นคนดีคนเสียสละ แต่มันไม่ได้เริ่มจากความรักที่จะวิ่ง เพราะฉันยังไม่ได้รักตัวเองเลย ใจฉันมันพร่อง และ ไม่ได้รู้สึกอะไรนอกจากว่ามันเหนื่อย และ เมื่อฉันเริ่มที่จะอยากวิ่งด้วยตัวเอง ฉันก็เรียนรู้ที่จะได้เรียนรู้ความรู้สึกของสองขา ตอนนี้มันล้า ก็ผ่อนลง เดินก่อนสักพักแล้ววิ่งต่อ ไม่ได้แข่งกับใคร ไม่ได้จะวิ่งแซงหรือชนะใคร ทุกคนคือเพื่อนร่วมวิ่ง ไม่ตะบี้ตะบันวิ่งไปจนสุดท้ายก็เหนื่อย มีช่วงที่บาดเจ็บเข่าปวดมากหลังจากวิ่งเสร็จ ก็ทำใจที่จะพักก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ เรียนรู้ว่าพร้อมจะออกวิ่งแล้วหรือยัง จะปรับยังไงให้วิ่งไปได้ และ เมื่อหายเจ็บแล้ว ร่างกายยังไม่พร้อมที่จะกลับไปวิ่งเยอะ ก็ยินดีที่จะย้อนกลับไปเหมือนตอนเริ่มซ้อม คือวิ่งได้แค่ 3 กิโลเมตร เข้าใจว่าเค้าไปได้เท่านี้ ไม่ว่าระยะทางเท่าไร การวิ่งก็เติมพลังให้เสมอ

เวลาไปวิ่งแม้จะเริ่มวิ่งพร้อมกันกับเพื่อนที่จุดสตาร์ท แต่สุดท้ายแล้วมีแต่ฉันคนเดียวเท่านั้น ที่จะพาตัวเองไป สุดท้าย จะต้องอยู่กับตัวเอง วิ่ง ๆ ไป เดี๋ยวก็มาเจอกัน เดี๋ยวก็แยกย้าย หรือ อาจจะได้มองเห็นหน้ากันตรง turning point แล้วไปเจอกันที่เส้นชัยที่บางคนก็ถึงเร็ว บางคนก็ถึงช้า และ เส้นชัยสำหรับฉันไม่ใช่เป้าหมายแต่เป็นความรู้สึกที่ได้เก็บเกี่ยวไประหว่างทาง ได้เคารพก้าวของเพื่อน ที่แต่ละคนมีก้าวที่ไม่เท่ากัน

ความรู้สึกที่ได้รับจากการวิ่ง ความกลมกลืนกับตัวเอง กับเพื่อน กับสิ่งรอบข้าง เกิดจากการที่ได้ฝึกโยคะ ได้หมั่นทบทวนตนเอง และ รับรู้ได้จากการวิ่ง จึงน่าจะบอกได้ว่ามันคือโยคะที่อยู่ที่สองขานี้เอง

บทความนี้ลงในโยคะสารัตถะ สถาบันโยคะวิชาการ เดือนมีนาคม

ความเหมือนในความต่าง

Standard

วันที่ 24 พฤศจิกายน วันที่ประชาชนนัดกันไปรวมตัวที่ราชดำเนิน ด้วยเหตุผลทางการเมือง วันเดียวกับที่ฉันมีงานโยคะพื้นฐาน 1 วัน ที่ มศว ระหว่างทานอาหารกลางวันที่ร้านริมคลองแสนแสบ เห็นเรือด่วนแล่นผ่านไปหลายลำ แต่ละลำบรรจุผู้โดยสารแน่นไปจนถึงท้ายเรือ กลุ่มผู้โดยสารดูจากเสื้อผ้า นกหวีดที่สวมคอ ธงชาติที่ผูกอยู่ที่ศีรษะ ฯลฯ ก็รู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ราชดำเนินแน่นอน ทำให้ใจของฉันพองโต อยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังมวลชน

หลังจากเสร็จงาน และ ทานอาหารเย็นแล้ว น้องรุ่น 13 ชวนไปที่ราชดำเนิน แต่น้องขับรถไป และ นึกกันไม่ออกว่าจะจอดรถไว้ไหนดีแต่ก็ไม่ลงตัว จึงตกลงกันว่าแยกย้ายดีกว่า เพราะดูจะไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง แต่ก็แยกกันไปด้วยความคาใจที่ยังมีความอยากจะไปที่ราชดำเนิน ฉันโบกแท๊กซี่กลับบ้าน เป็นคันที่ 3 จึงมีรถที่ยอมข้ามไปฝั่งธน พอเข้าไปนั่งในรถ ก็มีเสียงวิทยุมากระทบโสตประสาท เป็นเสียงวิทยุเสื้อแดง “เอาแล้วไง” ฉันคิด “เซ็งจริง ๆ คนอยากไปชุมนุม ดันมาเจอแท๊กซี่เสื้อแดง”

ฉันนั่งอยู่ในรถอย่างระแวดระวัง และ รู้สึกอึดอัด เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา คนขับแท๊กซี่ที่เราเรียกว่าแท๊กซี่เสื้อแดงมักจะหัวรุนแรง และ หยาบคาย จึงนั่งอยู่เงียบ ๆ และไม่ได้ใส่ใจกับเนื้อหาที่ออกมาจากวิทยุนั้น ซักพักคุณลุงคนขับแท๊กซี่ก็ปิดเสียงวิทยุ และ เริ่มรู้สึกถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลายลง เพราะคุณลุงขับรถอย่างสุภาพ และ ไม่ได้พูดอะไร ตอนลงถนนสาทร มุ่งหน้าไปทางราชพฤกษ์ ก็เห็นว่ารถเยอะ คุณลุงเลยถามว่าจะไปทางวงเวียนใหญ่มั๊ย ฉันตอบตกลง แต่พอไปถึงทางที่จะแยกไปวงเวียนใหญ่ ก็พบว่ารถติดเป็นแถวยาวอาจจะเนื่องจากเหตุชุมนุม จึงเปลี่ยนเป็นตรงไปทางราชพฤกษ์เหมือนเดิม

พอจะถึงบ้านเนื่องจากแถวบ้านกำลังมีทำถนน คุณลุงก็ชวนคุย “เอ้อ ตรงนี้เมื่อไหร่เค้าจะทำเสร็จเนอะ” “นั่นสิคะ ติดมาตั้งนานแล้วไม่รู้ว่าทำอะไรด้วย” แล้วคุณลุงก็ขับเลยที่กลับรถ “คุณลุงค๊าเลยแล้วค่า” “โอ๊ะๆๆ ขอโทษนะ มัวแต่นึกถึงว่ามาจากวงเวียนใหญ่ จำผิดไป”

ณ ตอนนั้น ฉันเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมา ฉันกลับรู้สึกละอายต่อคุณลุง ที่มีอคติเกิดขึ้นในตอนแรกที่ขึ้นรถ เราสองคนไม่ใช่คนที่ยืนอยู่คนละฟาก แต่เป็นคนสองคน ที่ทำมาหากินเหมือน ๆ กัน ต่างก็ทำหน้าที่ของตนอย่างดี เพียงแต่ทัศนคติ ความนิยมชมชอบทางการเมืองไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาแบ่งเขา หรือ เรา, ถูก หรือ ผิด, ชอบ หรือ เกลียด ได้เลย

ฉันเริ่มพิจารณาเนื้อหาที่มีคนโพสต์ลง facebook โลกยุคปัจจุบันที่การ “แชร์” ข้อมูลเกิดขึ้นได้แค่เสี้ยววินาที มีการปั่นกระแส สร้างข่าว ที่บางส่วนก็ไม่มีมูลความจริง คนอ่านแล้วถูกใจ สะใจ แต่เนื้อหานั้นแต่งแต้มขึ้นเพื่อให้ความรู้สึกเกลียดชัง และ ขัดแย้งนั้นรุนแรงมากขึ้น เอนเอียงห่างจากคำว่าเหตุผล และ ข้อเท็จจริงไปมากขึ้น (ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อเท็จจริงคืออะไร) หากเพียงแค่เราจะเปิดตามองโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นพวกไหน สีอะไร เพราะแท้ที่จริงแล้ว เราทั้งหลายต่างก็ไม่ได้แบ่งแยกจากกันเลย  การไปชุมนุมหากไปเพื่อเป็นการแสดงเจตนาของตนนั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่หากไปด้วยใจที่เกลียดชัง ไม่ได้ไปด้วยสันติอย่างแท้จริงก็คงจะนำไปสู่สันติใด ๆ ไม่ได้แม้แต่ในใจของเราเอง

หมายเหตุ- แท๊กซี่เสื้อแดง เป็นคำที่ใช้เรียกกันทั่วไป ไม่ได้นำมาใช้ในบทความนี้เพื่อการแบ่งแยกใด ๆ ทั้งสิ้น

 

บทความนี้ลงในโยคะสารัตถะ สถาบันโยคะวิชาการ เดือนธันวาคม 2556

เล่าเรียนที่ไกวัลยธรรม ตอนที่ 1

Standard

ช่วง ปลายปีที่แล้ว (2555) ได้มีโอกาสเป็นล่ามในคอร์สครูโยคะเพื่อการพัฒนาจิต ของสถาบันโยคะวิชาการ ตอนที่ครูฮิโรชิ และ ครูฮิเดโกะนำฝึก ก็รู้สึกว่า เรารู้จักโยคะมาห้าปี ช่วงสองปีหลังนี้ฝึกสม่ำเสมอทุกวัน มีบรรยายบ้าง ก็น่าจะถึงเวลาที่จะไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ยิ่งได้เป็นล่ามให้ครู ก็รู้สึกว่าถ้าเรามีประสบการณ์ตรงจากการได้ไปอินเดีย น่าจะทำให้การทำงานส่วนนี้ทำได้ดีขึ้น ก็เลยตัดสินใจไปเรียนคอร์ส CCY หลักสูตร 6 สัปดาห์ของสถาบันไกวัลยธรรม ที่เมืองโลนาฟลา มุมไบ

การ ไปอินเดีย ก่อนหน้านี้ไม่เคยอยู่ในความคิด เราเป็นคนชอบเที่ยว แต่อินเดียเป็นประเทศสุดท้ายที่คิดจะไป เนื่องจากภาพต่าง ๆ ที่เคยเห็น สิ่งต่าง ๆ ที่เคยได้ยิน เกี่ยวกับอินเดียว่าสภาพมันไม่น่าเที่ยว สกปรก คนอึฉี่กันบนถนน กินอาหารก็ท้องเสีย แขกก็ขี้โกง อันตรายมากถ้าจะไปอินเดีย ฯลฯ เวลาใครชวนไปก็จะบอกไปอย่างชัดเจนว่า “ไม่” แถมให้ด้วยว่า “ให้ไปฟรียังคิดดูก่อนเลย” แต่ตอนนั้นรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องไปหาความรู้ในสิ่งที่เรารัก จากต้นกำเนิด และ จากสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่ก็ยังมีความกลัวจากชื่อเสียงที่เคยได้ยิน

จาก นั้นมีโอกาสได้ไปฟัง อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ที่ศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย ในหัวข้อ อินเดีย เห็นด้วยตา รู้ด้วยใจ ได้ซื้อหนังสือของ อ.ประมวล มาหลายเล่ม และ ได้อ่าน “อินเดีย จาริกด้านใน” ทั้งสามเล่ม กลับรู้สึกว่ามุมมองที่เรา มองอินเดียนั้น ควรจะเป็นความเคารพ ไม่ว่าจะไปประเทศไหน หรือ ที่ไหน ถ้าไปด้วยความเข้าใจว่าประเทศเค้าเป็นอย่างนั้น โดยไม่เอาความคาดหวัง ความเคยชิน หรือความต้องการของเราที่ใช้ได้กับประเทศไทย หรือ ในบ้านเราไปปะปน เที่ยวที่ไหนก็สนุก อาจารย์ไปก็ลำบาก ก็โดนแขกโกง แต่ก็คิดว่าเอาวะ ค่าเงินเค้าก็ถูก จะโดนแขกโกง มันก็ไม่กี่บาท โดนโกงบ้างไม่เห็นจะเป็นไร เรื่องจะเป็นอันตราย เราก็รอบคอบพอสมควร ไม่ไปเที่ยวหาเรื่องกับใครก็คงจะอยู่รอดปลอดภัย ความกล้าที่จะไปอินเดียก็บังเกิด คิดซะว่า อะไรที่จะเข้ามาก็ต้อนรับทั้งชอบใจไม่ชอบใจ ได้ไปฝึกจิตตัวเอง อาจจะจิตมากขึ้น อันนี้ก็อีกเรื่อง ^^”

Image

ปีที่แล้วมีคนไทยไปคอร์ส CCY 3 คน ส่วนรุ่นพี่ที่สถาบันหลายท่าน รวมถึงครูกวี ผู้อำนวยการสถาบันโยคะวิชาการ ก็เคยผ่านคอร์สนี้ เลยรู้สึกสบายใจว่ามีคนให้ถามเยอะ และ ไปอยู่ในโรงเรียน ก็คงจะปลอดภัยกว่าเป็นนักท่องเที่ยว คอร์สนี้เปิดปีละสองครั้ง 2 พฤษภาคม และ 15 มกราคม ช่วงเดือน มกราคมอากาศดีกว่า ค่อนไปทางหนาว ส่วนเดือน พฤษภาคม ถามครูกวี ครูบอกว่าช่วงนั้นไม่น่าไป เพราะฝนตกเฉอะแฉะ

เมื่อ มีใครคิดจะทำอะไร ก็จะไม่พ้นครูกวี เนื่องจากมีหลายคนแสดงความสนใจอยากจะไปเรียน ครูก็เลยเรียกพวกเรามานัดคุยกัน พร้อมกับเอาข้อสอบเก่ามาให้ดู สรุปแล้วก็มีที่จะไปด้วยกันทั้งหมด 5 ชีวิต มีตัวเราเอง พี่กล้วย จูน พี่นิด และ ดุ๊ เป็นศิษย์เก่าของสถาบันฯ ทั้งหมด ครูบอกว่า “ผมคิดว่าโจ๋เรียนได้ โจ๋น่าไป จะได้ดูแลคนอื่นด้วย แล้วก็ถ้าไปก็ให้ไป conference ด้วยเลย” ฟังแล้วก็เอ่อ ครูคะ ตัวเองไม่รู้จะรอดมั๊ย ส่วนงาน conference มีจัดตอนเดือนธันวาคม ซึ่งพอหลังจากจบงานแล้วจะมีช่วงว่างประมาณ 2 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มเรียน และ แพลนไว้ว่าจะไปเที่ยวหลับจบคอร์สอีกประมาณ 10 วัน ซึ่งเท่ากับว่าจะใช้เวลาอยู่ในอินเดียถึงสามเดือน รู้สึกว่านานเกินไป ก็เลยไม่ได้ไป conference มีแต่พี่กล้วย กับ จูน ที่ไป conference แล้วก็จะอยู่ยาวไปเลย

คอร์สนี้เริ่ม 15 มกราคม ก็เลยว่าจะไปถึงก่อนซักสองสามวัน คุยกับพี่นิด พี่นิดจองตั๋วเรียบร้อยแล้ว บอกว่าของ indigo ถูกกว่าสายการบินอื่น เพราะเป็น low cost airline ของอินเดียและเครื่องก็ใหม่ ดูราคาแล้วก็ถูกจริงจองขาไปอย่างเดียวประมาณ 4,000 บาท และ ขากลับกลับทางกัลกัลตตา เพราะเที่ยวสิกขิมก่อนกลับ ค่าตั๋วขากลับ 2,000 บาท ถูกยังกะบินไปภูเก็ต เตรียมเรื่องเที่ยวไว้ก่อนเลย เพราะจะได้ไปเรียนแบบไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้เที่ยว อิอิ

เนื่องจากเวลายังเหลืออีกสองเดือน ก็เลยยังไม่ได้ทำวีซ่า แล้วก็เข้าเว็บไกวัลยธรรม เพื่อสมัครเรียน

ความเป็นอินเดียเริ่มขึ้นตรงนี้เอง เมื่อส่งใบสมัครไป และ เอกสารต่าง ๆ ผ่านไปได้เป็นอาทิตย์ ก็เงียบหาย ทางครูกวี และ ครูฮิโรชิ ก็ช่วยตามให้ เค้าบอกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงวันหยุด ก็โอเค วันหยุดก็วันหยุด จนจะครบเดือนแล้ว ก็ยังเงียบหาย ส่งอีเมล์ไปถาม ไม่มีเสียงตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก ครูกวีก็บอกว่านี่แหละ indian stlye ชิลเหลือเกิน รอจนพ้นเดือนนึง ครูกวีก็บอกว่า เค้าส่งเมล์ตอบมาแล้ว ให้ส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้ และ ทางสถาบันก็ออกจดหมายรับรองพวกเราทั้งห้าคน พอเค้าตอบกลับมา เราก็ไปโอนเงิน พอไปถึงธนาคารบอกว่าเค้าต้องการอีเมล์ที่ส่งมาจากไกวัล swift code ก็ไม่แน่ใจว่าถูกมั๊ย เค้าไม่กล้ารับโอน เพราะกลัวจะโอนไปผิดบัญชี เราก็โทรถามน้องคนนึงที่เคยไปปีทีแล้ว “พี่โจ๋ได้ swift code มาจากตา…นี่ใช่มั๊ย” เตยถาม เราก็ว่าใช่  “ปีทีแล้วเค้าก็บอกเลขเนี้ย แต่มันผิด ปีนี้ยังไม่แก้อีก” แล้วก็จัดการส่งแฟ็กซ์ใบโอนเงินมาให้ดูเป็นตัวอย่างตอนที่อยู่ทีธนาคาร เลย ทางธนาคารเห็นตัวอย่างใบโอนเงินแล้วก็เลยกล้ารับโอนให้ แถมยังส่งรายการข้าวของ การเตรียมตัวจะไปอินเดียอย่างละเอียด และ หนังสือกับตัวอย่างข้อสอบ มาให้อีกด้วยขอบคุณมา ณ ที่นี้จ้า

เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็จัดการจองตั๋วเครื่องบิน จากนั้นก็ไปทำวีซ่า ซึ่งการทำวีซ่าก็จะดวกมากกรอกใบสมัครจากในเว็บไซต์ http://www.ivac-th.com/Thai/ เตรียมเอกสารต่าง ๆ ทีต้องการไปให้ครบ ถ่ายรูปตามขนาดที่กำหนด ยื่นวีซ่าที่ตึก glass house ชั้น 15 สุขุมวิท 25 ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 5 วันทำการ แล้วก็ไปรับเล่มพาสปอร์ต

ตั๋วเครื่องบิน และ วีซ่าพร้อม ก็รายงานให้ครูกวีทราบ

โจ๋            “ครูคะ โจ๋ว่าจะไปสิกขิมค่ะ พี่..จะไปด้วย แล้วก็มีเพื่อนบินตามไปอีกคนนึง”

ครูกวี      “คิดดี ๆ นะ ไปเที่ยวอินเดียมันไม่เหมือนที่อื่น อ่านหนังสือ อ.ประมวลแล้วยัง”

โจ๋            “อ่านแล้วค่ะ”

ครูกวี      “อ่านแล้วยังจะไปอีกเรอะ”

โจ๋            “อ่านแล้วไงคะ ถึงได้จะไป”

ครู กวี      “ไอ้พวกนี้นี่นับถือจริง ๆ เรื่องเที่ยวนี่มันไม่ยอมเลย ไปอินเดียก็เหมือนไปใช้กรรม ยิ่งไปสิกขิม ก็ยิ่งได้ไปใช้กรรม อากาศมันหนาวมาก เข้าขั้นติดลบ ตัวจะแห้งมากจนโลชั่นก็เอาไม่อยู่ ต้องทาน้ำมันเลยนะ” ครูขู่ไว้ แต่เราก็มิได้นำพา เข้าตำราตอนจะไปเหมือนห่านจะบิน

พอ รู้แล้วว่าจะเที่ยวไหน ก็มาจัดข้าวของที่จะต้องเอาไป เพิ่งมาเห็นว่าสายการบิน indigo ให้น้ำหนักแค่ 20 กิโล ส่วน jet airways ให้ 30 กิโล แต่ราคาแพงกว่าประมาณห้าพัน เราก็โอเค เพราะไม่ได้จะขนอะไรไปเยอะ เสื้อผ้าใส่อยู่ที่โรงเรียนเป็นเสื้อยืด กางเกงสบาย ๆ 3 ชุด ชุดไปเที่ยว 3 ชุด และ เสื้อกันหนาวเวลาไปสิกขิม  น้ำหนักไปอยู่ที่ทิชชูแห้ง ทิชชูเปียก (ซึ่งไม่น่าขนไปให้หนักเพราะที่โน่นมีขาย) ถุงนอน (มีประโยชน์มาก) น้ำยาซักผ้า (เราใช้น้ำยาซักผ้าเด็ก เพราะต้องซักมือกลัวมือแหก อันนี้ที่โน่นไม่มีขาย) น้ำยาปรับผ้านุ่ม และ หนังสือ แถมมีที่ตากชุดชั้นใน แบบที่แขวนได้และกางออกมาได้อีกด้วย ส่วนชุดนักเรียน หรือกูร์ตาสีขาว ซึ่งนักเรียนทุกคนต้องใส่ ไปซื้อเอาที่โน่น แต่พอไปถึงแล้วก็รู้ว่าของส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องขนไป เพราะที่โน่นมีขายเหมือน ๆ บ้านเรา

ลองคำนวณค่าใช้จ่าย จะได้แลกเงิน ในเว็บไซต์บอกค่าใช้จ่ายเป็นดอลล่าร์คือ 1,000 ดอลลาร์ ก็ไม่แน่ใจว่าเค้ารับเป็นดอลลาร์ หรือ รูปี และ หนึ่งพันนี้เฉพาะค่าคอร์สหรือว่ารวมทุกอย่างแล้ว ก็เลยโทรหาพี่อีกคนที่เคยไปปีที่แล้ว ซึ่งบอกว่าตอนที่ไปเค้ารับทั้งสองอย่าง แต่ว่าด้วยความเป็นอินเดีย อะไรก็ไม่แน่นอน ปีนี้อาจจะบอกว่ารับแต่ดอลลาร์ อีกปีอาจจะว่าได้ทั้งรูปี และ ดอลล่าร์ก็ได้ ก็เลยแลกไปทั้งรูปี และ ดอลลาร์ และ ยังให้คำแนะนำอีกหลายอย่าง ทั้งเตือนให้เอาถุงนอนไป ภาษาที่ตอนแรกอาจจะฟังไม่เข้าใจแต่ใช้เวลาปรับหูซักหน่อย ไม่ยากเกินไป และ ไม่ต้องกลัวว่าจะเรียนไม่รู้เรื่อง ครูใจดี รวมถึงการเดินทางไปตลาด ชื่อร้านอาหารที่อร่อย ฯลฯ ขอบคุณมากค่ะ

เตรียม ทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็มาลองเปิดดูหนังสือ และ ข้อสอบเก่าที่รุ่นพี่ใจดีให้ยืม กะว่าจะลองทำข้อสอบดูก่อน พอเปิดทั้งหนังสือและข้อสอบ ก็เริ่มนอยด์ “อ่านไม่รู้เรื่องเลย จะไปทำไมวะเนี๊ยะ หาเรื่องมั๊ยเนี๊ยะ โอ๊ย ไม่ไปแล้วได้มั๊ยเนี๊ยะ (ได้เหรอ)” แล้วก็ไม่เปิดหนังสือขึ้นมาดูอีกเลย

ใกล้วันเดินทาง ทางไกวัลยธรรมก็ติดต่อมา ว่าให้บอกด้วยว่าจะไปถึงวันไหน เพื่อจะได้จัดรถมารับ แต่ครูฮิโรชิ บอกให้ใช้บริการของ Kuku ที่เป็นเพื่อนครู เพราะไว้ใจได้ ซึ่งช่วงหลังนี้ทางไกวัลฯ ก็ใช้บริการของ Kuku ด้วยเหมือนกัน  และ ครูฮิโรชิ บอกว่าจะมีเพื่อนญี่ปุ่นมาอีกสองคนที่จะไปไฟลท์เดียวกัน ดุ๊ก็ไปไฟลท์เดียวกันด้วย ดีจังมีคนช่วยกันหารค่ารถ แล้วเราก็พร้อมเดินทาง

โยคะ & black forest

Standard

Image

เมื่อเดือนที่แล้ว ไปประชุมเรื่องตำราโยคะที่สถาบันฯ จะเรียกว่าประชุมหรือจับกลุ่มดีหนอ เพราะมีผู้เข้าร่วมประชุมอยู่ 5 คน แล้วครูก็แซวเรา โดยพูดถึงการเปิดคอร์สต่าง ๆ ถ้าใครมีไอเดีย หรืออยากประสานงานเรื่องอะไรก็ทำได้ อย่างโจ๋อาจจะเป็นเรื่องโยคะเบเกอรี่ อะไรประมาณนี้ เพราะครูรู้ว่าเราชอบทำขนม

เราชอบทำขนมมาก ไม่ได้คิดว่าตัวเองทำอร่อยหรอก แต่มีความสุขเวลาอยู่ในครัว ตอนทำถึงจะร้อนเพราะครัวไม่ค่อยจะระบายอากาศ แต่ก็สนุก และทำออกมาก็ต้องทิ้งบ้าง หรือคนชมว่าอร่อยบ้าง บ้างก็บอกอ้อม ๆ ว่าไม่อร่อยบ้าง คนชิมแล้วอร่อย ก็ดีใจ บอกว่าไม่อร่อย เราก็ไม่เหลือเวลาให้ความผิดหวังหรอก เพราะจะรีบลงมือลองทำใหม่ ทำซ้ำๆ จนปรับสูตรเป็นของตัวเอง

เวลาทำขนม เราก็นึกถึงส่วนผสม เป็นคนมือหนัก ต้องให้ถึงเครื่อง เคยมีคนบอกเหมือนกันว่าชอบทำขนมก็ทำขายสิ แต่เราว่าถ้าเราทำขนมขายคงจะเจ๊ง เพราะไม่คุ้มทุน บางทีถ้าจะทำให้ขายได้ และได้กำไร ก็ไม่ต้องใส่ให้ครบเครื่องเสมอไปใช่มั๊ยล่ะ? (update ว่าตอนนี้ขายแล้วนะจ๊ะ ไปเยี่ยมร้านกันได้ที่ fb: BitaSweetBakery)

อย่าง black forest cake อาจจะเป็นเค้กชิ้นโปรดของใครหลายๆ คน black forest ในความคิดของเรา ควรจะมี 2-3 ชั้น ตรงกลางเป็นวิปครีม และ เชอร์รี่ หรือจะมีแยมสตอเบอร์รี่ด้วยก็ได้ แต่งหน้าด้วยวิปครีม ชอกโกแลตขูด และเชอร์รี่ บางวันอาจจะเพิ่มความเข้มของชอกโกแลต ใช้น้ำตาลไม่ฟอกสี โปะวิปครีมให้ตู้มๆ แต่ยังไงก็ยังเป็น black forest อยู่ ในขณะที่ของคนอื่นอาจจะไม่ได้ทำเป็นชั้นๆ ปาดบัตเตอร์ครีมแทนวิปครีมเพราะวิปครีมต้นทุนสูงกว่า และ เชอร์รี่ ที่มีไม่ครบทุกชิ้น ก็เรียกว่า black forest แล้ว แต่ขายได้กำไร เพราะราคาโดนใจคนซื้อ ส่วนคนซื้อก็โอเคน่ะ ก็ยังไงมันก็ชื่อว่า black forest ไม่ใช่เหรอ แล้วลองถามตัวเราเอง ให้เราทำ black forest แบบนี้ขายเราทำใจได้เหรอ เราจะเรียกมันว่า black forest ได้อย่างเต็มปากรึเปล่านะ หรือตรง ๆ เลยก็คือ “นี่เอ็ง (กล้า) เรียกว่า black forest เหรอ (ฟะ)”

พอทำเสร็จ พบกับคำติชม เราว่าเราทำดีแล้วนะ แต่ก็จะมีเสียงสะท้อนว่าอยากให้เนื้อเบากว่านี้ น่าจะหวานกว่านี้นะ หน้าเยอะไปหน่อยนะ ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ ฯลฯ เราก็อยากทำให้ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อยจัง” แต่คงจะยากซักหน่อย เวลาจะทำขนม จะทำรสไหน ใส่อะไร ก็อยู่ที่ว่า “จะทำให้ใคร” ถ้าไปทำขนมที่ใส่บลูเบอร์รี่ ให้คนที่ไม่ชอบกินบลูเบอร์รี่ เราก็จะได้ฟังคำติ ที่เอาไปปรับปรุงอะไรได้ยาก หรือทำให้จิตตกไปดื้อ ๆ หรือถ้าจะทำแบบทื่อ ๆ ตามสูตรเป๊ะ ๆ ก็อาจจะออกมาไม่ถูกปาก แล้วคนกินจะรู้ได้ยังไงว่าแบบนี้ รสชาติอย่างนี้ หน้าตาอย่างนี้ คือขนมที่โจ๋ทำ ก็ชั้นจะทำอย่างนี้อ่ะ ชอกโกแลตชั้นใช้ของแท้อย่างขมเลยนะ จะทำไม?” แล้วจะมีคนกินไหม?

คิดๆ ไปก็เหมือนสอนโยคะเหมือนกันนะ จะทำอะไรก็ควรหาสมดุลให้เจอ ทั้งแนวทางการสอน และจิตใจของผู้สอนเอง มีจุดยืนเป็นของตัวเอง แต่ก็ยืดหยุ่นได้ ถ้ามัวแต่วิ่งตามความต้องการของผู้ฝึก ก็จะเหนื่อยไม่จบสิ้น ต้องหาอะไรมาทำให้ผู้ฝึกพอใจอยู่เสมอ หรือถ้ายืนกรานจะเสนอแต่เนื้อหา ด้วยความหวังดีว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ก็เหนื่อยอีกเหมือนกัน

เวลา สอนก็หาทางที่จะสบายใจทั้งผู้สอนและผู้ฝึก ซึ่งก็มีความสุขที่ได้สอน แม้ผู้ฝึกจะชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ก็ทำอย่างดีที่สุด ไม่ได้ดีใจจนฮิฮะไปซะหลายวัน หรือจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกที่ว่าชั้นมันแย่จริงๆ ถ้าผู้ฝึกไม่ชอบ ก็ไม่เสียกำลังใจ นำข้อติมาปรับปรุงตัวเอง ยิ่งได้สอนมาก ก็จะเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองและพัฒนาตัวเองมากขึ้น จนได้ส่วนผสมที่ลงตัว และ ได้เผยแพร่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นของจริง ไม่ได้ลดส่วนผสม หรือลดแก่นที่แท้จริงของโยคะไป แม้จะไม่ได้มีรายได้มากมายอะไร ไม่ได้โดนใจคนส่วนใหญ่ เป็น black forest แบบครบเครื่อง แต่บอกได้เต็มปากว่านี่เป็น black forest ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนี่
หรือว่าไง?

บทความนี้ลงในโยคะสารัตถะ สถาบันโยคะวิชาการ เดือนกรกฎาคม 2552